เทคนิคการถ่ายภาพกีฬา
กีฬาเป็นสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อมีฟุตบอลระดับโลกหรือฟุตบอลลีกต่างๆ ก็จะมีผู้ชมค่อนข้างมาก ไม่เพียงแต่ฟุตบอลเท่านั้นที่มีผู้ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเทนนิส กอล์ฟ ยิมนาสติก แบดมินตัน ก็มีผู้ให้ความสนใจไม่แพ้กัน แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่านักถ่ายภาพทั่วไปจะถ่ายภาพกีฬาค่อนข้างน้อย นั่นอาจเป็นเพราะว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าการถ่ายรูปกีฬาจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มคนในวงแคบๆเท่านั้น และอาจจะเนื่องมาจากอุปกรณ์ในการถ่ายภาพกีฬาดีๆ จะมีราคาค่อนข้างสูงคนถึงเลือกที่จะไม่สนใจถ่ายภาพกีฬากันมากนัก แต่ก็ใช่ว่านักถ่ายภาพอย่างเราจะถ่ายภาพกีฬาไม่ได้นะครับ ลองดูเทคนิคต่างๆกันก่อนดีกว่าครับ
เลือกเลนส์ที่มีช่วงทางยาวโฟกัสสูง
ส่วนใหญ่แล้วการถ่ายภาพกีฬา ผู้ถ่ายจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใกล้กับการแข่งขันมากนัก เนื่องจากอาจจะไปรบกวนสมาธิของผู้แข่งขันได้ หรือบางครั้งสนามที่ใช้ในการแข่งขันจะค่อนข้างกว้าง เช่น สนามฟุตบอล ซึ่งผู้ถ่ายก็อาจจะต้องนั่งดูการแข่งขันค่อนข้างไกลที่เดียว เพราะฉะนั้นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูงค่อนข้างจำเป็นกับการถ่ายภาพกีฬาค่อน ข้างมาก นอกจากนั้นเราอาจใช้ Tele Converter ช่วยให้เราสามารถได้ภาพที่ขยายใหญ่มากขึ้น สำหรับเลนส์ช่วงนอมอล หรือเลนส์มุมกว้าง อาจจะใช้สำหรับเก็บภาพบรรยากาศก่อนการแข่งขัน และ รอบๆ การแข่งขันก็ได้นะครับ คราวนี้ใครมีเลนส์ช่วงความยาวโฟกัสสูงมากเท่าใด ก็เอาติดตัวไปถ่ายรูปกีฬากันได้เลยครับรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
ในการถ่ายภาพกีฬานั้นเราอาจให้ความสำคัญกับความเร็วชัตเตอร์ค่อนข้างมาก เพราะการถ่ายภาพกีฬาที่มีความเคลื่อนไหวนั้น ผู้ถ่ายภาพอาจจะต้องเลือกว่าต้องการหยุดการเคลื่อนไหวหรือต้องการให้ดู เหมือนมีการเคลื่อนไหว เช่น การถ่ายภาพการแข่งขันรถยนต์ ผู้ถ่ายอาจต้องการให้ผู้ดูภาพทราบถึงความเร็วของรถที่จะวิ่ง ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์อาจจะไม่ได้กำหนดให้สูงมากนัก แต่ในบางครั้งเราอาจจะต้องการถาพนักฟุตบอลที่กำลังจะยิงประตู ซึ่งต้องการถาพที่คมชัดและหยุดนิ่ง ก็อาจจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ค่อนข้างสูงก็ได้ ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์จะค่อนข้างสำคัญในการถ่ายภาพกีฬา สำหรับรูรับแสงนั้นจะกำหนดความชัดลึกหรือชัดตื้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราก็ต้องการให้ภาพของนักกีฬาเด่นออกมา โดยให้ฉากหลังค่อนข้างเบลอ รวมถึงบางครั้งเราต้องการให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้จากการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสงและ ISO) ดังนั้นส่วนใหญ่จะเลือกเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้นครับ
เลือก ISO ให้เหมาะสม
ปัญหาหนึ่งของการถ่ายภาพกีฬาคือ การถ่ายภาพในสถานที่แข่งขันที่มีแสงค่อนข้างน้อย เมื่อมีแสงค่อนข้างน้อยก็จะทำให้เราไม่สามารถกำหนดความเร็วชัตเตอร์ให้สูง ได้ตามที่เราต้องการ ถึงแม้ว่าเราจะเปิดรูรับแสงไว้กว้างสุดแล้วก็ตาม ความเร็วชัตเตอร์ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวได้ ดังนั้นเราอาจจำเป็นที่จะต้องดัน ISO ให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ยิ่ง ISO สูงขึ้นเท่าใด ก็จะมีโอกาสเกิด Noise เพิ่มขึ้นเช่นกัน เฉพาะฉะนั้นเราอาจจะเพิ่ม ISO แค่เพียงพอสำหรับการถ่ายรูปนั้นๆ แต่ปัจจุบันนี้กล้องถ่ายรูปก็พัฒนาไปค่อนข้างมากซึ่งกล้องปัจจุบันจัดการ Noise ได้ค่อนข้างดี ท่านอาจไม่ต้องกังวลเรื่อง Noise มาก เอาให้ได้ภาพดีกว่าครับ
เลือกระบบการโฟกัสภาพ
เนื่องจากการแข่งขันกีฬาส่วนใหญ่จะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดังนั้นระบบโฟกัสแบบต่อเนื่องจะช่วยเราค่อนข้างมาก โดยระบบโฟกัสของกล้องจะติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะได้ภาพที่คมชัดมากขึ้น
เก็บภาพบรรยากาศรอบๆ
บรรยากาศในการถ่ายภาพกีฬาจะค่อนข้างคึกคัก ซึ่งเราสามารถเก็บภาพได้ตั้งแต่ก่อนแข่งขัน ระหว่างการแข่งขันและหลังการแข่งขันได้ ซึ่งเราจะได้ภาพบรรยากาศในการแข่งขันที่แสดงถึงความผิดหวังหรือความสุขของ ผู้ชม แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคลคนด้วยนะครับ
ถ้า เราได้มีโอกาสได้ชมการแข่งขันกีฬาก็ลองติดกล้องไปถ่ายภาพกีฬาดูนะครับ แต่การถ่ายภาพก็คงต้องระวังการไปรบกวนนักกีฬาด้วยนะครับ เช่น การใช้แฟลชถ่ายภาพอาจจะทำให้แสงแฟลชเข้าตาผู้แข่งขันซึ่งเค้าอาจพลาดโอกาส สำคัญไปได้ นอกจากนั้นต้องระวังไม่บังผู้ชมกีฬาท่านอื่นๆ ด้วยนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น