วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการถ่ายภาพพลุ

เทคนิคการถ่ายภาพพลุ 

 พอถึงช่วงเทศกาลสำคัญๆ ต่างๆ ผู้ชื่นชอบถ่ายรูปก็จะรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ถ่ายภาพ และได้ภาพที่สวยงามมาเก็บไว้เป็นอัลบัมของตัวเอง และพลุก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่างภาพชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะมีความสวยงามและแปลกตาซึ่งคงไม่ได้หาถ่ายได้ง่ายๆทั่วไป ดังนั้นเมื่อใกล้เทศกาลต่างๆ ช่างภาพก็จะเริ่มเตรียมอุปกรณ์ต่างๆให้พร้อม ใครขาดอุปกรณ์อะไรก็หาเตรียมกันไว้เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามสมกับการรอคอย นอกจากอุปกรณ์แล้วเทคนิคการถ่ายภาพและความคิดสร้างสรรก็สำคัญในการเก็บภาพ พลุเช่นเดียวกัน

การถ่ายภาพพลุก็คงไม่ต่างกับการถ่ายภาพในเวลากลาง คืน เนื่องจากเป็นภาพที่มีแสงสว่างค่อนข้างน้อย แต่อาจจะซับซ้อนขึ้นอีกเล็กน้อยเนื่องจากเป็นภาพที่คาดเดาได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถของเราหรอกครับ ก่อนอื่นเราต้องทราบกำหนดและสถานที่จัดงานก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะได้เตรียมตัวหาสถานที่และมุมสวยๆ มาเริ่มดูเทคนิคการถ่ายรูปพลุกันเลยดีกว่าครับ



เลือกหามุมที่เหมาะสม

หลายท่านอาจสงสัยว่าจะหามุมสวยไปทำไมกัน ก็เมื่อพลุถูกส่งขึ้นท้องฟ้า เราก็ถ่ายพลุกับฉากหลังที่เป็นท้องฟ้า มุมไหนก็เหมือนกันทั้งนั้นนิหน่า จริงๆแล้วก็ไม่ผิดหรอกครับที่เราจะได้ภาพพลุสวยๆกับฉากหลังที่เป็นท้องฟ้า แต่ถ้าเราสามารถเพิ่มฉากหลังให้มีมากกว่าท้องฟ้าได้ เช่น สะพานที่ประดับไฟสวยๆ หรือไฟจากอาคารบ้านเรือนเข้ามาประกอบด้วยแล้ว ภาพของเราจะเริ่มมีเรื่องราวเข้ามาประกอบ และเพิ่มความสวยงามให้ภาพถ่ายมากขึ้นไปอีกก็ได้นะครับ เตรียมตัวหามุมสวยๆก่อนที่งานจะเริ่ม ไม่อย่างนั้นจะมีคนจับจองไปหมดนะครับ

เลือกใช้เลนส์ให้เหมาะสม
อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาพที่เราต้องการเป็นหลักครับ ถ้าเราเลือกให้เลนส์เทเลโฟโต้ที่ช่วงยาวๆ เราก็จะได้รูปพลุที่ใกล้เข้ามา แต่ก็จะขาดฉากหลังไป ถ้าใครใช้เลนส์มุมกว้างก็จะได้ฉากหลังแต่ภาพพลุก็จะดูไกลออกไปสักหน่อย ถ้าเป็นไปได้ก็ใช้เลนส์อเนกประสงค์ไปเลยดีกว่าครับ อยากจะได้ภาพกว้างก็ซูมออกหรืออยากได้ภาพเฉพาะพลุก็ซูมเข้ามาสะดวกกว่า เยอะนะครับสำหรับผู้ที่อยากได้ทั้งสองแบบ


ใช้รูรับแสงที่ค่อนข้างแคบ
จริงๆแล้วความสว่างของแสงไฟในขณะนั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกรูรับ แสงให้แคบหรือกว้าง โดยสภาพแสงในขณะนั้นค่อนข้างสว่างก็ควรเปิดรูรับแสงให้แคบลง แต่ถ้าค่อนข้างมืดก็เปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความชัดลึกชัดตื้น ซึ่งการถ่ายภาพพลุก็คงไม่ต่างกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ที่นิยมภาพที่ค่อน ข้างมีความชัดลึก ดังนั้นควรเปิดรูรับแสงให้ค่อนข้างแคบไว้ก่อน แต่ก็คงจะไม่ต้องดันให้แคบที่สุดก็ได้นะครับ ดูสภาพแสงในขณะนั้นด้วยอาจใช้รูรับแสงประมาณ f/8 ขึ้นไปก็น่าจะเพียงพอ

ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆไว้ก่อน
เนื่องจากการยิงพลุขึ้นสู่ท้องฟ้าอาจอาศัยเวลาประมาณ 5 – 10 วินาที ตั้งแต่พลุวิ่งเป็นสายขึ้นสู่ท้องฟ้า และแตกกระจายบนท้องฟ้า หลังจากนั้นประกายของพลุก็จะค่อยๆตกลงมาและดับไป ดังนั้นเพื่อให้ได้ภาพพลุตั้งแต่ต้นจนจบ เราคงต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ค่อนข้างต่ำเพื่อเก็บภาพทั้งหมดของพลุ แต่เราอาจต้องคำนึงถึงสภาพแสงด้วยนะครับ อย่าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำจนกระทั่งภาพที่ได้ over จนเกินไปบางท่านใช้ชัตเตอร์ B เพื่อเก็บภาพเพราะสามารถควบคุมความเร็วชัตเตอร์ได้ด้วยตัวเอง ถ้าใครยังไม่ทราบถึงการใช้ชัตเตอร์ B ควรศึกษาจากคู่มือกล้องก่อนที่จะไปถ่ายนะครับ เพราะการใช้ชัตเตอร์ B ในการถ่ายภาพพลุจะทำให้การถ่ายภาพสะดวกขึ้นมากทีเดียวครับ

ถ้าเลือกได้เลือก ISO ต่ำดีกว่า
ในการถ่ายภาพพลุนั้นบางครั้งเราจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็ว ขึ้นเพื่อให้ได้ภาพที่เราต้องการ ดังนั้นอาจต้องใช้ ISO ที่สูงขึ้น แต่ก็อย่างที่ทราบว่าเมื่อเราดัน ISO ขึ้นสูงจะมีโอกาสที่จะเกิดน๊อยได้ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนมืด แต่ถ้าเราสามารถเลือกได้ควรกำหนด ISO ให้ต่ำที่สุดดีกว่าครับ ภาพของเราจะได้ไม่มีน๊อยขึ้นมารบกวน

จะง่ายกว่าถ้าเปลี่ยนโหมดถ่ายภาพเป็นแมนนวล
ก็อย่างที่ทราบกันว่า เมื่อเราจำเป็นต้องกำหนดทั้งรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และ ISO ดังนั้นเราควรปรับกล้องเป็นระบบแมนนวลเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมกล้อง เพราะระบบ Auto จะทำให้เราควบคุมกล้องยากขึ้นครับ

รอจังหวะให้ดีๆ
จังหวะที่เรากดชัตเตอร์เปิดนั้นเราจะเริ่มกดตั้งแต่เห็นไฟวิ่งขึ้นสู่ ท้องฟ้า และรอจังหวะที่ไฟแตกออก พอไฟเริ่มย้อยลงก็กดชัตเตอร์ปิดทันที (กรณีใช้ชัตเตอร์ B) ทั้งหมดนี้เราก็จะได้ภาพพลุที่สมบูรณ์ทั้งแต่ไฟที่วิ่งขึ้นและพลุที่กระจาย เต็มท้องฟ้า

ได้ใช้ขาตั้งกล้องสักที
หลายท่านที่มีขาตั้งกล้องและเก็บไว้ไม่ค่อยได้ใช้ คงจะได้ใช้ก็งานนี้แหละ เนื่องจากการใช้ชัตเตอร์ที่ค่อนข้างช้า ทำให้การใช้มือถือกล้องในการถ่ายภาพ และได้ภาพที่คมชัด เกือบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นรีบนำขาตั้งกล้องมาเช็ดฝุ่นกันดีกว่าครับ หลายท่านอาจจะบอกว่า ก็ตั้งกล้องไว้บนโต๊ะหรือบนระเบียงไม่ได้หรือ จริงๆแล้วก็ได้นะครับแต่การจัดมุมภาพอาจจะยากนิดนึง หรือถ้าวางไม่ระวังกล้องของเราอาจจะเสียหายได้นะครับ ถ้าใช้ขาตั้งกล้องได้ก็จะสะดวกขึ้นมากครับ

สายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมท
ถึงแม้ว่าเราจะวางกล้องบนขาตั้งกล้องแล้วก็ตาม แต่จังหวะที่เรากดปุ่มชัตเตอร์นั้นอาจเกิดการสั่นไหวของตัวกล้องได้ และการตั้งเวลาถ่ายรูปที่ใช้กันเมื่อไม่มีสายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมท อาจจะไม่เหมาะสมในสถานการณ์นี้เนื่องจากภาพพลุจะเกิดขึ้นเมื่อไร คงจะคาดเดาได้ยาก ไม่เหมือนการถ่ายภาพไฟในเวลากลางคืน ดังนั้นถ้าใครมีสายลั่นชัตเตอร์หรือรีโมทก็จะได้เปรียบในการถ่ายภาพเพื่อให้ ได้ภาพที่ค่อนข้างคมชัดขึ้นอีกระดับหนึ่งนะครับ

เทคนิคเพิ่มเติม
เราอาจจะลองวัดแสงฉากหน้าและหลังของเราก่อนที่จะมีการจุดพลุเพื่อให้ทราบ คร่าวๆของค่ารูรับแสงนะครับ และเมื่อพลุลูกแรกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าก็เริ่มจัดองค์ประกอบภาพ และลองถ่ายภาพดูเพื่อดูความสว่างของภาพ หลังจากนั้นคงต้องรีบปรับความเร็วชัตเตอร์และรูรับแสงให้เหมาะสมอย่างรวด เร็วนะครับ

การถ่ายภาพพลุอาจต้องอาศัยความชำนาญในการปรับกล้องพอ สมควร เนื่องจากภาพที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวที่ดี ก็จะมีโอกาสได้ภาพที่ดีตามไปด้วยนะครับ ถ้ามีภาพพลุที่ไหนก็อย่างลืมออกไปเก็บภาพสวยๆกลับมานะครับ

ข้อมูล
https://www.facebook.com/PanyanonPhotographer


วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการถ่ายภาพกีฬา

เทคนิคการถ่ายภาพกีฬา 

 กีฬาเป็นสิ่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อมีฟุตบอลระดับโลกหรือฟุตบอลลีกต่างๆ ก็จะมีผู้ชมค่อนข้างมาก ไม่เพียงแต่ฟุตบอลเท่านั้นที่มีผู้ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเทนนิส กอล์ฟ ยิมนาสติก แบดมินตัน ก็มีผู้ให้ความสนใจไม่แพ้กัน แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่านักถ่ายภาพทั่วไปจะถ่ายภาพกีฬาค่อนข้างน้อย นั่นอาจเป็นเพราะว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าการถ่ายรูปกีฬาจะเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มคนในวงแคบๆเท่านั้น และอาจจะเนื่องมาจากอุปกรณ์ในการถ่ายภาพกีฬาดีๆ จะมีราคาค่อนข้างสูงคนถึงเลือกที่จะไม่สนใจถ่ายภาพกีฬากันมากนัก แต่ก็ใช่ว่านักถ่ายภาพอย่างเราจะถ่ายภาพกีฬาไม่ได้นะครับ ลองดูเทคนิคต่างๆกันก่อนดีกว่าครับ



เลือกเลนส์ที่มีช่วงทางยาวโฟกัสสูง

ส่วนใหญ่แล้วการถ่ายภาพกีฬา ผู้ถ่ายจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใกล้กับการแข่งขันมากนัก เนื่องจากอาจจะไปรบกวนสมาธิของผู้แข่งขันได้ หรือบางครั้งสนามที่ใช้ในการแข่งขันจะค่อนข้างกว้าง เช่น สนามฟุตบอล ซึ่งผู้ถ่ายก็อาจจะต้องนั่งดูการแข่งขันค่อนข้างไกลที่เดียว เพราะฉะนั้นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูงค่อนข้างจำเป็นกับการถ่ายภาพกีฬาค่อน ข้างมาก นอกจากนั้นเราอาจใช้ Tele Converter ช่วยให้เราสามารถได้ภาพที่ขยายใหญ่มากขึ้น สำหรับเลนส์ช่วงนอมอล หรือเลนส์มุมกว้าง อาจจะใช้สำหรับเก็บภาพบรรยากาศก่อนการแข่งขัน และ รอบๆ การแข่งขันก็ได้นะครับ คราวนี้ใครมีเลนส์ช่วงความยาวโฟกัสสูงมากเท่าใด ก็เอาติดตัวไปถ่ายรูปกีฬากันได้เลยครับ


รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์
ในการถ่ายภาพกีฬานั้นเราอาจให้ความสำคัญกับความเร็วชัตเตอร์ค่อนข้างมาก เพราะการถ่ายภาพกีฬาที่มีความเคลื่อนไหวนั้น ผู้ถ่ายภาพอาจจะต้องเลือกว่าต้องการหยุดการเคลื่อนไหวหรือต้องการให้ดู เหมือนมีการเคลื่อนไหว เช่น การถ่ายภาพการแข่งขันรถยนต์ ผู้ถ่ายอาจต้องการให้ผู้ดูภาพทราบถึงความเร็วของรถที่จะวิ่ง ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์อาจจะไม่ได้กำหนดให้สูงมากนัก แต่ในบางครั้งเราอาจจะต้องการถาพนักฟุตบอลที่กำลังจะยิงประตู ซึ่งต้องการถาพที่คมชัดและหยุดนิ่ง ก็อาจจะต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ค่อนข้างสูงก็ได้ ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์จะค่อนข้างสำคัญในการถ่ายภาพกีฬา สำหรับรูรับแสงนั้นจะกำหนดความชัดลึกหรือชัดตื้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเราก็ต้องการให้ภาพของนักกีฬาเด่นออกมา โดยให้ฉากหลังค่อนข้างเบลอ รวมถึงบางครั้งเราต้องการให้สามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมได้จากการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสงและ ISO) ดังนั้นส่วนใหญ่จะเลือกเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้นครับ






เลือก ISO ให้เหมาะสม

ปัญหาหนึ่งของการถ่ายภาพกีฬาคือ การถ่ายภาพในสถานที่แข่งขันที่มีแสงค่อนข้างน้อย เมื่อมีแสงค่อนข้างน้อยก็จะทำให้เราไม่สามารถกำหนดความเร็วชัตเตอร์ให้สูง ได้ตามที่เราต้องการ ถึงแม้ว่าเราจะเปิดรูรับแสงไว้กว้างสุดแล้วก็ตาม ความเร็วชัตเตอร์ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวได้ ดังนั้นเราอาจจำเป็นที่จะต้องดัน ISO ให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ยิ่ง ISO สูงขึ้นเท่าใด ก็จะมีโอกาสเกิด Noise เพิ่มขึ้นเช่นกัน เฉพาะฉะนั้นเราอาจจะเพิ่ม ISO แค่เพียงพอสำหรับการถ่ายรูปนั้นๆ แต่ปัจจุบันนี้กล้องถ่ายรูปก็พัฒนาไปค่อนข้างมากซึ่งกล้องปัจจุบันจัดการ Noise ได้ค่อนข้างดี ท่านอาจไม่ต้องกังวลเรื่อง Noise มาก เอาให้ได้ภาพดีกว่าครับ


เลือกระบบการโฟกัสภาพ
เนื่องจากการแข่งขันกีฬาส่วนใหญ่จะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดังนั้นระบบโฟกัสแบบต่อเนื่องจะช่วยเราค่อนข้างมาก โดยระบบโฟกัสของกล้องจะติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะได้ภาพที่คมชัดมากขึ้น





เก็บภาพบรรยากาศรอบๆ

บรรยากาศในการถ่ายภาพกีฬาจะค่อนข้างคึกคัก ซึ่งเราสามารถเก็บภาพได้ตั้งแต่ก่อนแข่งขัน ระหว่างการแข่งขันและหลังการแข่งขันได้ ซึ่งเราจะได้ภาพบรรยากาศในการแข่งขันที่แสดงถึงความผิดหวังหรือความสุขของ ผู้ชม แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคลคนด้วยนะครับ

ถ้า เราได้มีโอกาสได้ชมการแข่งขันกีฬาก็ลองติดกล้องไปถ่ายภาพกีฬาดูนะครับ แต่การถ่ายภาพก็คงต้องระวังการไปรบกวนนักกีฬาด้วยนะครับ เช่น การใช้แฟลชถ่ายภาพอาจจะทำให้แสงแฟลชเข้าตาผู้แข่งขันซึ่งเค้าอาจพลาดโอกาส สำคัญไปได้ นอกจากนั้นต้องระวังไม่บังผู้ชมกีฬาท่านอื่นๆ ด้วยนะครับ



วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การวัดแสง

การวัดแสง 

หลายท่านคงเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการวัด แสงเวลาถ่ายภาพกันมาบ้าง ผมเองก็เคยมีปัญหากับเรื่องการวัดแสงมากทีเดียว ปัญหาหลักๆคือผมไม่ทราบว่าต้องวัดแสงตรงจุดไหนถึงให้ค่าแสงที่พอดี ถึงแม้ในระบบวัดแสงของกล้องจะแสดงว่าได้ค่าแสงที่พอดีแล้วแต่เมื่อผมลองดู ภาพกลับได้ภาพที่สว่างไปบ้าง มืดไปบ้าง งั้นเรามาเริ่มศึกษาวิธีการวัดแสงไปพร้อมๆกันดีกว่าครับ

ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจเกี่ยวกับระบบ การวัดแสงของกล้องก่อน โดยกล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อจะมีระบบวัดแสงแตกต่างกันบ้าง แต่ก็คงจะอยู่ในหลักการที่ใกล้เคียงกัน โดยกล้องจะมีระบบวัดแสงให้เราได้เลือกใช้กันหลายแบบ ซึ่งในแต่ละแบบจะถูกนำมาใช้ตามสภาพแสงและขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ถ่าย ภาพเป็นหลัก.....เรามาดูกันดีกว่าว่าระบบวัดแสงหลักๆ มีอะไรบ้าง

วัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ (Evaluative metering) เป็นการวัดค่าแสงในพื้นที่ทั้งหมดของภาพและนำค่าแสงในแต่ละจุดของภาพมาคำนวณเฉลี่ยเป็นค่าแสงที่เหมาะสม

วัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง (Center-weighted average metering) เป็นการนำค่าแสงทุกส่วนของภาพมาแต่ให้ความสำคัญกับค่าแสงในส่วนตรงกลางมากกว่าในการคำนวณค่าแสง
วัดแสงเฉพาะส่วน (Partial metering) เป็นการนำค่าแสงเฉพาะบางส่วนของภาพ ส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลางภาพ มาคำนวณค่าแสง

วัดแสงเฉพาะจุด (Spot metering) มีลักษณะคล้ายๆกับการวัดแสงเฉพาะส่วน โดยเป็นการนำค่าแสงเฉพาะบางจุด (เล็กกว่าเฉพาะส่วน) มาคำนวณค่าแสง


เมื่อทราบเกี่ยวกับระบบวัดแสงกัน แล้ว มาเริ่มดูวิธีการวัดแสงกันเลยดีกว่าครับ ปกติกล้องที่เราใช้กันอยู่นั้นไม่สามารถมองเห็นอย่างที่มนุษย์เห็นได้ ดังนั้นกล้องจึงต้องใช้ค่ามาตรฐานค่าหนึ่งในการกำหนดว่าค่าดังกล่าวคือค่า แสงที่พอดี โดยค่าดังกล่าวคือสีเทากลาง 18% ตามที่เราเคยได้ยินกันมา ดังนั้นเมื่อเราวัดแสง ณ จุดไหนกล้องจะปรับให้จุดนั้นมองเห็นเป็นค่าเทากลาง 18%


มาลองดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ ถ้าเราใช้วิธีวัดแสงแบบเฉพาะจุดและให้กล้องปรับค่ารูรับแสง หรือ ความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัตินะครับ เมื่อเรานำจุดวัดแสงวัดวัตถุที่เป็นสีดำกล้องจะปรับ (เปลี่ยนค่ารูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์) จุดนั้นให้มีค่าแสงพอดี คือปรับให้จุดดังกล่าวเป็นที่เทากลาง 18% ดังนั้นเมื่อเราถ่ายวัตถุที่เป็นสีดำ และวัดแสง ณ จุดนั้นวัตถุดังกล่าวจะไม่เป็นสีดำสนิท โดยจะเปลี่ยนเป็นสีเทากลาง 18% แทน ลองมาดูอีกตัวอย่างนะครับ ถ้าเราถ่ายวัตถุสีขาว และเราวัดแสงที่วัตถุสีขาวดังกล่าวโดยวิธีวัดแสงเฉพาะจุด กล้องจะปรับวัตถุสีขาวให้เป็นสีเทากลาง 18% เช่นกัน เพราะฉะนั้นสีขาวจะกลายเป็นสีเทากลาง 18%



หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วเราควรจะวัดแสงที่จุดไหน จริงๆแล้วเราสามารถวัดแสงที่จุดไหนก็ได้ แล้วแต่ความถนัด ให้เราลองจินตนาการว่าภาพของเราเป็นภาพขาวดำทั้งหมด สีที่เข้มๆ เมื่อเป็นภาพขาวดำก็จะเป็นสีเข้มๆ ซึ่งน่าจะเกินสีเทา 18% ส่วนสีที่เป็นสีอ่อนมากๆ เมื่อเป็นขาวดำก็จะเป็นสีเทาที่ต่ำว่า 18% ถ้าเกิดเราต้องการวัดแสงให้ตรงเลยก็ต้องมองหาวัตถุที่เมื่อแปลงเป็นสีขาวดำ แล้ว จะให้ค่าที่เป็นสีเทา 18% นั่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตาเราคงไม่ได้วัดแสงได้เก่งขนาดนั้น ดังนั้นถ้าเราเลือกวัดแสงในวัตถุสีเข้มๆ เราก็ต้องปรับกล้องของเราเองให้ภาพมืดลง (ชดเชยแสงทางลบ) ก่อนที่จะถ่ายเพราะถ้าเราไม่ทำ วัตถุที่เป็นสีเข้มนั้นก็จะกลายเป็นสีเทากลาง 18% ในภาพขาวดำ ทำให้ทั้งภาพดูสว่างเกินกว่าความเป็นจริง หรือในทางกลับกันถ้าเราเลือกวัดแสงจากวัตถุที่เป็นสีขาว เราก็ต้องปรับกล้องของเราให้มีภาพสว่างขึ้น (ชดเชยแสงทางบวก) ก่อนที่จะถ่ายเพราะไม่อย่างนั้นภาพสีขาวก็จะกลายเป็นสีเทากลาง 18% และส่วนอื่นๆในภาพก็จะดูหม่นๆไป ดังนั้นบางท่านถึงเลือกวัดแสงในวัตถุที่เป็นสีเขียว เนื่องจากเมื่อแปลงเป็นภาพขาวดำแล้ว น่าจะมีสีใกล้เคียงกับสีเทา 18% ค่อนข้างมาก


ส่วนเราควรจะปรับค่าเท่าใดนั้นก็คง บอกไม่ได้เพราะขึ้นกับสภาพของแสงในขณะนั้น ลองนำไปปฏิบัติดูครับ ถ้าเราเข้ากันในหลักการนี้แล้วต่อไปการวัดแสงก็คงจะไม่ใช่อุปสรรคของเราอีก ต่อไป ทดลองถ่ายภาพบ่อยๆ วัดแสงบ่อยๆ ต่อไปก็จะชำนาญเองครับ


เพิ่มเติม
การชดเชยแสงมีทั้งทางด้านลบและด้านบวกโดยมีวิธีใช้ที่ง่ายมากคือ ถ้าเราเลื่อนขีดในระบบชดเชยแสงไปด้านเครื่องหมายลบ (ชดเชยแสงทางลบ) ซึ่งจะทำให้ภาพมืดลง ในทางกลับกันถ้าเราเลื่อนขีดในระบบชดเชยแสงไปด้านเครื่องหมายบวก (ชดเชยแสงทางบวก) ซึ่งทำให้ภาพสว่างขึ้น ลองอ่านคู่มือเกี่ยวกับการวิธีการชดเชยแสงในกล้องแต่ละยี่ห้อดูนะครับ


ขอบคุณข้อมูล
https://www.facebook.com/PanyanonPhotographer

 

 

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เคล็ดลับการถ่ายภาพเด็ก

เคล็ดลับการถ่ายภาพเด็ก 

 
วัตถุประสงค์ของการซื้อกล้องถ่ายภาพของหลายๆท่านก็เพื่อถ่ายภาพบุคคลที่ใกล้ ชิด ซึ่งรวมถึงการถ่ายรูปเด็กๆที่ท่านรู้จักด้วย ซึ่งหลายท่านอาจซื้อกล้องถ่ายภาพมาเพื่อถ่ายภาพของบุตรหลาน เพื่อที่จะเก็บความน่ารักสดใสเอาไว้ แต่หลายท่านก็จะพบปัญหาของการถ่ายภาพลักษณะนี้ เนื่องจากการถ่ายภาพเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกให้เด็กทำตามที่ต้องการได้ เหมือนการถ่ายภาพ Portrait ทั่วไปที่เราจะสามารถจัดท่าทางของนางแบบได้ ซึ่งความยากง่ายก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของการถ่ายภาพนะครับ เรามาเริ่มกับเทคนิคการถ่ายภาพเด็กกันเลยดีกว่าครับ


เลือกเลนส์ที่เหมาะสม

การเลือกเลนส์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการถ่ายภาพลักษณะนี้ เนื่องจากหลายท่านอาจมีข้อจำกัดของสภาพแสงที่ใช้ในการถ่ายภาพ ดังนั้นเลนส์ที่มีความไวแสงสูงหรือสามารถปรับรูรับแสงได้กว้างๆ ก็จะได้เปรียบและมีโอกาสได้ภาพที่คมชัดมากกว่า โดยรูรับแสงควรมีความกว้างไม่ต่ำกว่า f/4 ซึ่งเลนส์ที่ใช้อาจจะเป็นเลนส์มุมกว้างหรือเลนส์เทเลก็ได้ โดยถ้าเด็กไม่คุ้นเคยกับกล้องถ่ายภาพเราอาจต้องใช้เลนส์เทเล เพื่อให้อยู่ห่างจากตัวเด็กเพื่อที่เวลาถ่ายภาพเด็กจะไม่สังเกตเห็นว่าเรา กำลังถ่ายภาพอยู่ แต่ภาพที่ได้ก็จะเป็นภาพที่อยู่ในมุมแคบซะส่วนใหญ่ โดยถ้าเราต้องการเก็บสภาพแวดล้อมมาด้วยก็จำเป็นต้องใช้เลนส์มุมกว้างหรือ เลนส์นอมอลในการถ่ายภาพนะครับ

เลือกระบบวัดแสงเฉพาะจุดหรือเฉลี่ยหนักกลาง

ในบางครั้งสภาพแสงอาจแตกต่างกันมากระหว่างสภาพแวดล้อมกับตัวแบบแต่ด้วย การถ่ายรูปลักษณะนี้อาจจะต้องอาศัยความรวดเร็วในการถ่ายเนื่องจากภาพที่เรา ต้องการอาจเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าตัวแบบที่เราถ่ายได้รับแสงที่พอดีไม่มืดหรือสว่าง เกินไป จึงควรเปลี่ยนระบบวัดแสงเป็นแบบเฉพาะจุดหรือเฉลี่ยหนักกลางและเลือกวัดแสง ที่หน้าของเด็กนะครับ

เลือกระบบโฟกัสเป็นแบบต่อเนื่อง
เนื่องจากเด็กมีความซุกซนและไม่ค่อยอยู่นิ่งกับที่ ดังนั้นระบบโฟกัสแบบต่อเนื่องจะช่วยให้เราได้ภาพที่คมชัดขึ้นโดยการวางจุด โฟกัสไว้ที่บริเวณใบหน้าของเด็กตลอดเวลาของการถ่ายภาพ เมื่อได้จังหวะแล้วก็สามารถกดถ่ายภาพได้ทันทีเลยครับ

ใช้ระบบถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง
ระบบถ่ายภาพแบบต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้ภาพดีๆเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาพที่ดีๆบางครั้งจะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที ดังนั้นในบางจังหวะเราอาจจะกดชัตเตอร์รัวเพื่อให้ได้ภาพทุกจังหวะที่ต้องการ และนำมาเลือกให้ภายหลังก็ได้นะครับ

เลือกรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสม
การเลือกรูรับแสงกว้างจะทำให้ฉากหลังเบลอมากกว่าการใช้รูรับแสงที่แคบและ เพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวแบบมากขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการเก็บรายละเอียดของฉากหลังแค่ไหน โดยถ้าเราต้องการให้เห็นฉากหลังว่าอยู่ในสถานที่ใดก็อาจจะต้องปรับรูรับแสง ให้แคบลง แต่อย่างไรก็ตามเราคงต้องคำนึงถึงความเร็วชัตเตอร์ด้วย โดยถ้าความเร็วชัตเตอร์ไม่เพียงพอก็อาจจะทำให้ภาพที่ออกมาเบลอได้เช่นเดียว กัน

ดังนั้นวิธีปรับตั้งให้เหมาะสมเราควรจะเริ่มปรับรูรับแสงก่อน เพื่อให้ได้ความชัดตื้นชัดลึกเหมาะสมและได้ภาพที่เราต้องการ แต่ถ้าขนาดของรูปรับแสงนั้นทำให้ความเร็วชัตเตอร์ไม่เพียงพอเราก็ใช้ ISO ช่วยโดยการดัน ISO เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นนั่นเอง (ลองอ่านบทความการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง และ ISO เพิ่มเติมได้นะครับ) โดยเราสามารถปรับระบบกล้องให้เป็นโหมดที่ผู้ใช้สามารถปรับรูรับแสงเอง โดยกล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้อัตโนมัติ (Aperture Priority) เพื่อช่วยให้เราถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นครับ

เลือกสภาพแสงที่มีแสงนุ่ม
การถ่ายภาพเด็กก็เหมือนกับการถ่ายภาพ Portrait ทั่วไปโดยภาพที่ออกมาควรมีแสงที่ใกล้เคียงกันไม่ควรให้ด้านหนึ่งสว่างและอีก ด้านหนึ่งมืด ซึ่งจะทำให้ได้ภาพที่แตกต่างกันมากเกินไป เราอาจจะเลือกถ่ายภาพในที่ร่มหรือภายในอาคารต่างๆ หรือสนามเด็กเล่นหรือสนามหลังบ้านที่อยู่ในที่ร่มนะครับ โดยเราควรใช้แสงที่เป็นธรรมชาติและไม่ควรใช้แฟลชเนื่องจากแสงแฟลชอาจจะทำให้ เป็นแสงแข็งและอาจเป็นอันตรายกับดวงตาของเด็กได้หรืออาจทำให้เด็กกลัวการ ถ่ายภาพไปเลยนะครับ

รอเวลาที่เหมาะสม
เราไม่ควรบังคับเด็กในการถ่ายภาพ เนื่องจากจะทำให้ความสดใจร่าเริงของเด็กหายไปและอาจจะทำให้เด็กกลัวการถ่าย ภาพไปเลยก็ได้นะครับ ดังนั้นเราควรให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอซะก่อน โดยเมื่อเด็กเริ่มเล่นเราควรรอให้เด็กเริ่มคุ้นเคยและเริ่มเล่นอย่างสนุก สนานเราจึงค่อยเริ่มเก็บภาพไปเรื่อยๆ ในบางครั้งเราอาจถ่ายภาพโดยไม่ให้เด็กรู้ตัวซึ่งก็จะได้ภาพที่เป็นธรรมชาติ ได้ดียิ่งขึ้นนะครับ

การถ่ายภาพเด็กไม่ได้ยากเกินไปสำหรับเราหรอก ครับแต่อาจต้องอาศัยความอดทนเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ภาพดี และไม่ควรบังคับเด็กในการถ่ายภาพนะครับ เราควรรอเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพและก็จะได้ภาพที่เป็นธรรมชาติและสามารถ เก็บความน่ารักสดใสของเด็กเพื่อเอาไว้ดูเล่นยามว่างได้นะครับ

ขอบคุณข้อมูล 
https://www.facebook.com/PanyanonPhotographer